แต่งงานอายุน้อย หรือคอยไปอีกหน่อยดีกว่า
ช่วงนี้เทรนด์การแต่งงานกันตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ช่วงเริ่มจบการศึกษา หรือเพิ่งออกมาทำงานกันใหม่ๆก็ดี มีให้เห็นกันอยู่มากมาย ซึ่งจะว่าไปแล้ว เฉพาะแค่ 3 เดือนแรกของปีนี้ ทีมงาน Matchmaking ของมีทแอนลันช์ ก็ได้ตระเวนไปร่วมอวยพรตามงานแต่งงานของผู้ใช้บริการมาแล้วเกือบร้อยคู่ แต่ละรายเห็นแล้วพาให้นึกถึงช่วงวัยอันหวานชื่น เฉลี่ยแล้วเพิ่งจะ 20 กลางๆ ซึ่งถือเป็นวัยที่ใครๆก็มักจะอยากรื่นรมย์กับการใช้ชีวิตโสด ลุยเดี่ยวคนเดียว มากกว่าการครองคู่….. แต่ไฉนเทรนด์การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยๆ จึงวกกลับมาเริ่มเป็นเทรนด์ใหม่ในยุคสมัยนี้ได้ พอสืบหาช้อมูลไปมา เอ้า! ก็พบว่ามีทุกอย่างมีเหตุผลสนับสนุนและปัจจัยของมันอยู่เหมือนกันนะ ดังนั้น วันนี้เรามาเรียนรู้กันดีกว่า ว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงข้อดีข้อเสียบางประการของ ‘Young Marriage’ ด้วย
• แต่งช้าไป อาจทำให้ใจสับสน
ในบทความก่อนๆนี้ เราได้ทราบกันไปแล้วว่า ผลวิจัยจากต่างประเทศบ่งชี้มาให้เห็นถึงความพึงพอใจของคนเรา ที่มีต่อคู่ครองของเขาหรือเธอ ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพอใจ หรือพอใจในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญพวกเขามักจะแอบจินตนาการถึงคนรักในสมัยก่อนของตัวเองด้วย ว่าหากแต่งงานกับคนรักเก่าไปตั้งแต่ตอนนั้น ชีวิตฉันจะน่าจะดีกว่านี้มั๊ยน๊า….สรุปได้ว่า ยิ่งคนเราใช้ชีวิตนานไปเท่าไร ก็มักจะปล่อยให้หน้าที่การงานและเงื่อนไขทางสังคม ส่งผลต่อการเลือกคู่มากเกินไป เรียกว่าเอาความสุข 2 ด้านมาสับสนปนเปกัน ทำให้มักได้คู่แต่งงานที่อาจส่งผลดีต่อสถานะทางสังคม แต่ในระยะยาวต้องแลกมาด้วยความขมชื่นทางใจ หรือไม่มีความสุขเท่าที่ควร ต่างกับคนที่แต่งงานตอนเรียนจบใหม่ๆ ซึ่งทำตามหัวใจเรียกร้องล้วนๆ ไม่ปล่อยให้ปัจจัยอื่นใดมาขัดขวางการตัดสินใจ ประมาณว่า ถ้าขาดคนนี้ไป เขาหรือเธอคงจะอยู่ต่อไปอย่างไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไร
• ลดช่องว่างระหว่างเพื่อนกับคู่ชีวิต
คุณกอล์ฟ เจ้าบ่าวมือใหม่อายุ 24 ปี ผู้ที่เราเพิ่งไปร่วมแสดงความยินดีมาด้วยหยกๆ ได้เล่าให้เราฟัง แกมแสดงความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าผมรอจนอายุซักสามสิบแล้วค่อยเริ่มคิดเรื่องแต่งงาน ถึงตอนนั้นผมอาจไปเจอคนในแวดวงการทำงาน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับกลุ่มเพื่อนของผม ก็คงจะดูกร่อยๆ ไม่สนิทกันง่าย และเที่ยวสนุกกันไม่ได้อย่างสนิทใจ เหมือนกับคนในวัยยี่สิบต้นๆแบบนี้” นี่คือความเห็นที่สอดคล้องกับที่หลายๆคนบอกเรามาเช่นกัน ในเมื่อคู่ชีวิตก็สำคัญ เพื่อนก็สำคัญ ถ้ามีทางใดที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายแนบแน่นกันได้ โดยมีเราเป็นศูนย์กลาง ทำไมจะไม่ทำล่ะครับ?
• โอกาสแก้ตัวเหลือเยอะ
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งให้ได้ ยังอาจต้องใช้เวลาสอบหลายครั้ง กว่าจะสอบได้สมหวัง การลงทุนทำธุรกิจใดๆ กว่าจะสำเร็จ ก็ต้องล้มแล้วล้มอีกไม่รู้กี่ครั้ง แต่สิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปได้ยาก หากอายุของคุณมันไม่อำนวย หรืออายุมากเกินไปแล้ว…..การใช้ชีวิตคู่ก็เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าการแต่งงานตอนอายุน้อยๆ จะดีได้ตลอดรอดฝั่งเสมอไป แต่อย่างน้อยก็ยังมีเวลาเหลือให้เริ่มต้นใหม่ได้ (ถ้าจำเป็น) ไม่ต้องมาพะวงเรื่องแก่เกินหาคู่หรือหาแฟนใหม่ แม้ว่าฐานะทางการเงินจะไม่อำนวย เพราะเรื่องสุขภาพกายนั้น มีนัยยะสำคัญต่อชีวิตคู่มากกว่า “หย่ากันตอนอายุสามสิบห้า กับหย่ากันตอนอายุสี่สิบห้า ผลกระทบมันต่างกันเยอะนะคะ” คุณวุ้น ลูกค้ารายหนึ่งของเรากล่าว “อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องความมั่นใจ ถึงแม้วุ้นจะเคยล้มเหลวในการแต่งงานตอนอายุน้อยมาแล้ว แต่วุ้นมาใช้บริการมีทแอนลันช์ ให้หาคู่ชีวิตคนใหม่ เพราะวุ้นรู้สึกว่าอายุตัวเองยังน้อยอยู่ ถ้าวุ้นอายุมากกว่า ก็คงจะรู้สึกไม่มั่นใจเท่าไร ทางเลือกก็คงจะน้อยลงด้วย” แน่นอนว่าการแต่งงานแบบอายุยังน้อย ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งเท่าที่มีงานวิจัยออกมา ก็พบข้อดีเช่นว่า ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาคนรักใหม่ในอนาคต เพราะไหนจะต้องมาเรียนรู้กันและกันอีก ไหนจะความไม่แน่นอนอื่นๆในชีวิตอีก (อาจจะเสียชีวิตก่อนได้แต่งก็เป็นได้) แถมการแต่งงานอายุน้อยยังทำให้มีเวลาไปทุ่มเทกับการหาเงินในยุคแห่งทุนนิยม ที่การแข่งขันด้านเศรษฐกิจสูงเช่นนี้อีกด้วย ส่วนข้อเสีย ก็มีเช่นว่า ความอดทนของคู่แต่งงานอาจจะยังน้อยอยู่ อาจทำให้ชีวิตคู่กดดันจนไม่มีความสุขได้ (ถ้าไม่รักกันจริง) โดยเฉพาะหากมีบุตรกันด้วยแล้ว ความกดดันจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ รวมถึงข้อเสียทางด้านประสบการณ์ชีวิต ที่บางอย่างอาจจะต้องสละไป เพื่อให้ชีวิตคู่ดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะแต่งงานเมื่ออายุเท่าไร อายุเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงตัวเลขทางกายภาพเท่านั้น ที่สำคัญและมีผลต่อความสุขในชีวิตแต่งงานมากกว่า ก็คืออายุทางใจ หรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนทั้งคู่ด้วย
สนใจบริการจัดหาคู่ ติดต่อสอบถามได้ที่ ไลน์บริษัทจัดหาคู่ MeetNLunch Line id: @meetnlunch (ใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะคะ)