กลยุทธ์ที่ CEO ควรใช้ ในการทำให้ธุรกิจก้าวกระโดด – บริษัทจัดหาคู่
กลยุทธ์ที่ CEO ควรใช้ ในการทำให้ธุรกิจก้าวกระโดด
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาคุณนิกกี้ กรรมการผู้บริหารของ MeetNLunch ภายใต้แบรนด์ Lunch Actually Group บริษัทจัดหารักที่ใหญ่ที่สุดใน South East Asia ได้มีโอกาสเข้าร่วมเสวนาบนเวทีระดับโลก GMASA (Global Mobile App Summit & Awards) ณ โรงแรมเชอราตั้น แกรนด์ สุขุมวิท และได้ร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับระบบจัดการการตัดสินใจที่บริษัทของเธอใช้และนำให้ธุรกิจของ MeetNLunch เติบโตอย่างก้าวกระโดดนับจากปี 2013, 2014 และ 2015 จนถึงปัจจุบัน
จากประสบการณ์ในการทำงานกับบริษัทใหญ่มาแล้วมากมาย คุณนิกกี้ตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรส่วนใหญ่มักเลือกใช้เสียงส่วนมากในการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นประเด็นเล็กไปจนถึงประเด็นใหญ่ ทำให้ผลลัพธ์ของงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เพราะพนักงานที่มีอำนาจในการโหวตเสียงไม่ใช่คนที่รับผิดชอบหรือเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ อีกทั้งหากการตัดสินใจมาจากดุลพินิจของผู้บริหารเพียงผู้เดียวโดยไม่มีขั้นตอนการเรียกประชุมพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามข้อเสนอแนะอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดภายในองค์กรได้ แต่ด้วยกระบวนการที่คุณนิกกี้นำมาประยุกต์ใช้นี้นอกจากจะช่วยให้การตัดสินใจกลายเป็นเรื่องง่ายและมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยลดความเข้าใจผิดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้กับองค์กรอีกด้วย
บนเวทีได้มีการสอบถามว่าทำไมถึงต้องมีระบบการจัดการสำหรับการตัดสินใจ? คุณนิกกี้จึงได้ยกตัวอย่างถึงการจัดการที่เน้นระดับความสำคัญและตามลงมาด้วยความเร่งด่วนของเรื่องนั้นๆ เช่นการตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการคำนวณค่าคอมมิสชันของพนักงานซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งสำหรับองค์กร แต่หากถามว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องด่วนหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือแม้แต่การแก้ปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ส่วนมากแล้วนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆบริษัทซึ่งอาจมีผลกระทบในระดับที่ชี้ชะตากรรมขององค์กรได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้การตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากและเร่งด่วนมาก หมายความว่าประเด็นนี้จะต้องได้รับการจัดการอย่างระมัดระวังและรวดเร็วที่สุด แต่หากเป็นเรื่องสีโทนของห้องประชุมใหม่ อันนี้นับว่าไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอาจมอบหมายงานนี้ให้กับคนที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาสำคัญอื่นๆ
หลังจากทำการเรียงลำดับความสำคัญและเร่งด่วนได้เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจให้ชัดเจนเพื่อช่วยประหยัดเวลา ให้การสื่อสารเป็นไปอย่างทั่วถึงและลดช่องว่างความเข้าใจผิด ทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยกระบวนการจัดการนี้จะช่วยลดเวลาของการตัดสินใจในประเด็นซับซ้อนให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจเพื่อให้การทำงานในขั้นตอนต่อจากนั้นเป็นไปได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ซึ่งกลยุทธ์ที่คุณนิกกี้นำมาใช้ในการตัดสินใจนี้ถูกเรียกกันในองค์กรว่า SMART โดยเป็นตัวย่อมาจาก Situation, Man, Another, Result และ Translate และนี่คือขั้นตอนในเชิงปฏิบัติของกระบวนการนี้
1.Situation
‘คุณจะตัดสินใจได้อย่างไรถ้าคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความสำคัญของการตัดสินใจนั้นคืออะไร?’ นี่คือคำถามพื้นฐานง่ายๆซึ่งคุณจะต้องแปลกใจว่ามีคนจำนวนมากแค่ไหนที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบมัน
ทุกๆตัวเลือกย่อมมีบริบทของมัน Situation เป็นตัวบอกแก่นสารหรือสาระสำคัญของการตัดสินใจ เพื่อช่วยให้ความกระจ่างชัดว่าการตัดสินใจนั้นคืออะไร โดยเราสามารถแบ่ง S นี้ได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ อะไร, เมื่อไร และจุดประสงค์คืออะไร ซึ่งคุณนิกกี้ได้อธิบายแต่ละส่วนเอาไว้ดังนี้
- อะไร : ก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องใดก็ตาม เช่นการปล่อย Product ใหม่ออกสู่ตลาด เราควรจะพิจารณาก่อนว่า Product นั้นคืออะไร รวมไปถึงที่ที่เราเลือกจะปล่อย เช่นเป็นประเทศอะไร และปล่อยมันออกไปอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจ
- เมื่อไร : แน่นอนว่าหากเราไม่มีการกำหนด timeline ที่ชัดเจน ฝ่ายผลิต ฝ่ายการตลาด หรือฝ่ายวางแผนก็อาจเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันซึ่งเป็นผลให้การทำงานของแต่ละฝ่ายไม่เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน
- จุดประสงค์ : เป็นเรื่องสำคัญมากที่บริษัทจะต้องทำให้เป้าหมายของทุกแผนกในบริษัทเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้จุดประสงค์ในการวางแผนการตัดสินใจไม่ตรงกัน เช่น ฝ่ายการตลาดจะมุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่าเมื่อจ่ายค่าโฆษณาไปแล้วจะมีลูกค้ากลับเข้ามาในบริษัทกี่คน ในขณะที่ทางฝ่ายขายก็มีเป้าหมายคือต้องการมีจำนวนลูกค้าเข้ามามากขึ้นโดยไม่สนใจค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายการตลาดลงไป ซึ่งในกรณีนี้แท้จริงแล้วจุดประสงค์ที่ทั้งสองฝ่ายต้องยึดไว้คือการได้ลูกค้ามาในราคาที่ไม่สูงเกินไป
2.Man
เพราะคนคือกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจ เพราะความจริงคือสำหรับทุกการจัดการในองค์กร ผู้คนย่อมมาก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ให้ความเห็นและให้ข้อมูลสนับสนุนอันเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ (พนักงานที่มีส่วนร่วม) คนที่เป็นผู้อนุมัติ (ผู้บริหาร) และคนที่รับผิดชอบในการตัดสินใจ (ผู้จัดการ) โดยเราจะเรียกตำแหน่งสำคัญทั้งสามนี้สั้นๆว่า ที่ปรึกษา ผู้อนุมัติ และผู้ตัดสินใจ ตามลำดับ
ผู้ตัดสินใจและผู้ที่รับผิดชอบจะต้องเป็นคนๆเดียวกันเพราะหากแยกกันไปแล้วทำให้คนที่ตัดสินใจไปไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาในภายหลังเสมอ
เวลาที่เราจะตัดสินใจอะไรก็ตามในองค์กรไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติจะเป็นคนเสนอไอเดียและและตัดสินใจเองทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบแต่จะต้องรับฟังเสียงจากคนที่เกี่ยวข้องทุกคนโดยกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นนี้คือขั้นตอนที่สำคัญมากเพราะหากไม่มีสิ่งนี้แล้วก็จะส่งผลให้คนที่ไม่ได้เสนอความคิดเห็นไม่พอใจอึดอัดใจและลาออกไปในที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนทาง MeetNLunch มีโปรเจคหนึ่งที่ CEO ต้องการจะทำ แต่ไม่ได้ฟังเสียงของพนักงานคนอื่นๆ ดังนั้นพอจะเริ่มโปรเจคนั้นก็มีคำถามตามมามากมาย เป็นผลให้โปรเจคนี้ต้องถูกพักไว้ชั่วคราว หลังจากนั้นทาง CEO จึงมีการเรียกพนักงานทุกคนที่ต้องการมีส่วนร่วมให้เข้ามานำเสนอความคิดเห็นรวมและทำการบันทึกไว้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงทำการตัดสินใจว่าควรจะทำอย่างไร วิธีนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ผลการตัดสินตามที่ต้องการ แต่อย่างน้อยทุกคนก็ได้รับรู้แล้วว่าองค์กรรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา
3. Another
สำหรับการตัดสินใจที่ซับซ้อนสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการลิสต์รายการตัวเลือกออกมาและเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้มีการนำเสนอไอเดียเพิ่มขึ้นมายกตัวอย่างเช่นวิธีการจ้างงานมีหลายแบบเราอาจวัดจากประสบการณ์ทำงานและฐานเงินเดือนที่เหมาะสมแล้วเสนองานไปเลยก็สามารถทำได้แต่จากที่ MeetNLunch มีการ Brainstrom ภายในบริษัทก็พบว่าหากเราเพิ่มขั้นตอนในการทดลองงานเพื่อให้ผู้สมัครได้เข้ามาสัมผัสการทำงานจริงๆแล้วจะช่วยให้บริษัทรู้ว่าผู้สมัครเหมาะสมกับตำแหน่งงานจริงๆหรือไม่และยังสร้างโอกาสในการรักษาคนให้ทำงานกับองค์กรไปนานๆอีกด้วย
4.Result
เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นจากคนทั้งองค์กรแล้วก็ถึงเวลาของผู้มีอำนาจที่จะทำการตัดสินใจเพื่อที่จะได้เป็นผลลัพธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดออกมาจากกระบวนการนี้และเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจน
5.Translate
และเราก็เดินทางมาถึงด่านสุดท้าย ‘การอธิบาย’ การตัดสินใจอันเป็นหน้าที่ของผู้ตัดสินใจ ที่จะต้องอธิบายรายละเอียดของขั้นตอนการเลือกให้กับผู้อนุมัติทราบ หลังจากนั้นผู้ตัดสินจะต้องร่างรายละเอียดของการตัดสินใจครั้งนี้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1 หน้ากระดาษ และส่งเป็นอีเมล์ให้ทุกคนในองค์กร เพราะทุกคนควรรับรู้ว่ามีการตัดสินใจอะไรใหม่เกิดขึ้นบ้าง
สุดท้ายนี้เทคนิคที่สำคัญที่สุดในการบริหารการตัดสินใจก็คืออย่าใช้เสียงส่วนใหญ่มาเป็นตัวตัดสินใจ CEO ไม่ควรถามว่า ‘ทุกคนตัดสินใจว่าอย่างไร’ หรือให้ทุกคนร่วมกันโหวตเสียง จากกระบวนการนี้จะเห็นได้ว่าผู้ตัดสินใจและผู้อนุมัติจะไม่ได้สรุปจากคะแนนโหวตส่วนมาก แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกความเห็นและนำมาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจสุดท้าย
ด้วยระบบจัดการการตัดสินใจที่ MeetNLunch นำมาใช้ตลอดหลายปีนี้ ทำใเราเติบโตเป็นบริษัทจัดหารักที่ใหญ่ที่สุดใน South East Asia โดยมีสาขาอยู่ที่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลยเซีย อินโดนีเซีย และฮ่องกง ปัจจุบันมีคู่เดทที่ประสบความสำเร็จจากบริการของเราไปแล้วมากกว่า 99,000 คู่ และ MeetNLunch ยังมุ่งเป้าที่จะสร้างคู่แต่งงาน 1 ล้านคู่ภายในปี 2020
สนใจบริการจัดหาคู่ ติดต่อสอบถามได้ที่ ไลน์บริษัทจัดหาคู่ MeetNLunch Line id: @meetnlunch (ใส่ @ ข้างหน้าด้วยนะคะ)